HOME

รางวัลพระปกเกล้าทองคำ

Separation

        สืบเนื่องจาก สถาบันพระปกเกล้ากำหนดให้มีการมอบรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ทุกๆ  2 ปี โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 
        รางวัลพระปกเกล้าทองคำ เป็นรางวัลที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้า มีการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการบริหารงานท้องถิ่นอยู่เสมอ ทั้งนี้ รางวัลพระปกเกล้าทองคำจะเป็นเครื่องหมายเชิดชูองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่บริหารงานและตอบสนองความต้องการของประชาชน และพื้นที่ อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง รวมถึงมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการบริหารงานใหม่ๆ อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในประเทศไทย   

ประเภทของรางวัลพระปกเกล้าทองคำ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ประเภทที่ 1 รางวัลพระปกเกล้าทองคำ สำหรับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • ประเภทที่ 2 รางวัลพระปกเกล้าทองคำ สำหรับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์
  • ประเภทที่ 3 รางวัลพระปกเกล้าทองคำ สำหรับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม

คุณสมบัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ

      ต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้าในระดับเป็นเลิศในประเภทเดียวกันมาแล้ว 2 ครั้ง ในระยะเวลา 5 ปี นับย้อนหลังไป 

      ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ

      องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำ จะไม่สามารถเข้าร่วมการพิจารณาให้รางวัลพระปกเกล้าในประเภทที่ได้รับรางวัล ในปีถัดไปเป็นเวลา 1 ปี และเมื่อเข้าร่วมโครงการรางวัลพระปกเกล้าอีกครั้ง สถาบันฯ จะเริ่มนับการพิจารณาการได้รับรางวัลพระปกเกล้าตามประเภทรางวัลฯ ที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำไปใหม่ทั้งหมด


      วัตถุประสงค์

      Separation
      • เพื่อจูงใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้าเข้าร่วมโครงการรางวัลพระปกเกล้า และพัฒนาความเป็นเลิศและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
      • เพื่อเชิดชูเกียรติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสุดยอด ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน  ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม พร้อมสู่การเป็นแบบอย่างแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ
      • เพื่อธำรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรางวัลพระปกเกล้า   

      คุณค่าและประโยชน์

      Separation
      รางวัลพระปกเกล้า เป็นโครงการที่เปิดกว้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ส่งผลงานเข้ารับการประเมินจากสถาบันฯ โดยความสมัครใจ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับ มีดังนี้
      1. ในการประเมินรางวัลพระปกเกล้า เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินการในโครงการ สถาบัน จะส่งข้อมูล (Feedback) กลับไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบระดับการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตนเองเมื่อเทียบกับท้องถิ่นอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน รวมถึงทราบจุดเด่น และจุดบกพร่องในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเองเพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และนำแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเหมาะสม
      2. เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การตรวจสอบระบบการทำงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง และนำไปสู่การสร้างการทำงานเป็นทีม (ในกระบวนการทำความเข้าใจตัวชี้วัด และการเก็บรวบรวมผลงาน) การนำเสนอผลงานทั้งในรูปแบบเอกสาร และการนำเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งต้องคำนึงถึงการนำเสนอที่ตรงประเด็นชัดเจนและกระชับ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
      3. กรอบแนวคิดและตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นมานั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้เป็นหลักในการพัฒนาเป็นโครงการต่างๆ ในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบรรลุความเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ตามที่ตนเองประสงค์ และยังนำไปสู่ความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นด้วย
      4. กระบวนการเก็บรวบรวมผลงาน ช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการประสานข้อมูลจากกองหรือสำนักที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การเก็บรวบรวมผลงานตามตัวชี้วัดยังสามารถรายงานผลการพัฒนาด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน ได้รับทราบเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และทำให้ประชาชนเห็นภาพการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่ามีแนวทางการพัฒนาอย่างไรนำไปสู่การบรรลุความมุ่งหวังในแต่ละประเภทของรางวัลพระปกเกล้าหรือไม่ รวมถึงหากยังขาดตัวชี้วัดใด ก็สามารถหาแนวทางเพื่อจัดการแก้ไขและพัฒนาในประเด็นที่ยังขาดให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
      5. ผลงานที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะถูกรวบรวมเป็นเอกสารเผยแพร่ในวันมอบรางวัลพระปกเกล้า ที่สถาบันฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และยังถูกเผยแพร่ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศอีกด้วย ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้ามีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น
      6. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ส่งผลงานเข้าร่วมทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการประเมินรางวัลพระปกเกล้า จะได้รับการวบรวมรายชื่อในฐานข้อมูลเครือข่ายรางวัลพระปกเกล้า โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ผ่านการประเมินจะได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับของท้องถิ่น ให้เข้าสู่มาตรฐานรางวัลพระปกเกล้าในโอกาสต่อไป
      7. ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการพิจารณาให้มีความเป็นเลิศเพื่อรับรางวัลพระปกเกล้า มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากสถาบันฯ ในการเข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงของสถาบันฯ ได้แก่
      7.1 หลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง
      7.2 หลักสูตร การเสริมสร้างสังคมสันติสุข
      7.3 หลักสูตร การบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน
      Banner

      ข้อแนะนำสำหรับ อปท.

      Separation
      ข้อแนะนำสำหรับ อปท.